ภาคใต้ เป็นดินแดนแห่งหมู่เกาะและท้องทะเลอันงดงาม อีกทั้งยังมีอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวใต้ยังโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเปี่ยมเสน่ห์ชวนให้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในแต่ละปีภาคใต้จัดเป็นอีกภาคที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมมากมาย
ความเป็นมา ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีที่พราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ สันนิฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ในประเทศอินเดียตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมนำเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแห่เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ เป็นต้น ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมา แล้วดัดแปลงปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา |
เมื่อพุทธศาสนาได้เผยแพร่ถึงภาคใต้ของประเทศไทย จึงได้นำประเพณีชักพระเข้ามาด้วย ประเพณีชักพระ มีความเป็นมาที่เล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพ สถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ทรงประกาศพระคุณของมารดาแก่เทวสมาคมและแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา 7
คัมภีร์
จนพระมหามายาเทพและเทพยดา ในเทวสมาคมบรรลุโสดาบันหมด ถึงวันขึ้น 15
ค่ำ
เดือน
11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราชที่ตั้งสวรรค์ ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว บันไดทองนั้นสำหรับเทพยดามาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1
ค่ำ
เดือน
11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลาน ได้มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ จะส่งต่อ ๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง เข้าไปถวายเป็นที่โกลาหล โดยถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เหตุนี้จึงเกิดประเพณี "ห่อต้ม" "ห่อปัด" ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชน ได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ ซึ่งกระทำกันในวันแรม 1
ค่ำ
เดือน
11 ของทุกปีสืบมาจนเป็นประเพณีชักพระในปัจจุบัน อันอุปมาเสมือนหนึ่งได้ร่วมรับเสด็จและร่วมถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ด้วยตนเองไม่ว่าจะห่างไกลกันด้วยเวลาและสถานที่สักเพียงใด
ลากพระหรือชักพระ?
เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนากระทำหลังจากวันมหาปวารณาหรือวันออกพรรษา 1 วัน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยพุทธศานาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือรถ หรือล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำหรือตามถนนหนทาง ถ้าท้องถิ่นในอยู่ริมน้ำหรือมีลำคลอง ก็ลากพระทางน้ำ ถ้าห่างไกลลำคลองก็ลากพระทางบก แล้วแต่สภาพภูมิประเทศเหมาะแก่การลากประเภทไหน |
มากกว่ากัน บางท้องที่ในจังหวัดตรัง พัทลุง และสงขลา มีการลากพระบกในวันแรม 1 ค่ำ ในเดือน 5 ก็มีในประเพณีลากพระของชาวใต้มีมาแต่โบราณและก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งเรือพาย การชัน (ประชัน) โพนหรือแข่งโพน การประชันปืดหรือแข่งปืด กีฬาชัดต้ม การทำต้มย่าง และการเล่นเพลงเรือ เป็นต้น
นับครั้งภิกษุชาวจีนชื่อ อี้จิง ได้จาริกผ่านคาบสมุทรมลายูเพื่อไปศึกษาศาสนาในอินเดีย ใน พ.ศ.21214-1238 ก็ได้เห็นประเพณีการลากพระของชาวเมือง "โฮลิง" อันเป็นชื่อเดิมของเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้บันทึกไว้ว่า "พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งมีคนแห่แหนนำมาจากวัดโดยประดิษฐานจากรถหรือบนแคร่มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่แวดล้อมมา มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่าง ๆ มีการถวายของหอมดอกไม้และถือธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าวนี้ภายใต้เพดากว้างขวาง"จากหลักฐานในจดหมายเหตุของภิกษุอี้จิงนี้ทำให้นักวิชาการบางคนเชื่อว่าประเพณีลากพระในภาคใต้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยศรีวิชัยประเพณีลากพระของชาวใต้สมัยกรุงศรีอยุธยาเห็นว่าเป็นประเพณีที่ทั้งสถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ดังปรากฏในเรื่องประทวนตราให้แก่พระครูอินทร์โมลีคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุงใน พ.ศ.2242 ว่า "แลเมื่อครั้งคณะป่าแก้วแต่ก่อนมีพระครูอันดับ 6 องค์ ได้ช่วยการพระราชพิธีตรุศสารทแลงานลากพระถวายพระราชกุศล" และ ข้ออีกตอนหนึ่งว่า "แลราชการซึ่งเป็นพนัดแก่ขุนหมื่นกรมคณะป่าแก้วมีแต่หน้าที่เมืองเส้นหนึ่งแลการพระราชพิธีตรุศสารท แลงานลากพระเจ้าเมืองจะได้เบียดเสียดเอาข้าพระไปใช้ราชการนอก แต่นั้นหามิได้ " เมืองนครศรีธรรมราชปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าอยู่บรมโกศ แม้แต่ผู้ตีกลองในงานลากพระก็ถือว่าสำคัญ จึงมีแจ้งไว้ในทำเนียบข้าราชการตกเป็นพระอัยการไว้ว่า "ขุนรันไภรีถือศักดินา 200 พนักงานตีกลองแห่พระ" ตำแหน่งนี้มีมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ว่า "ขุนรันไภรีถือศักดินา 200 พนักงานตีกลองแห่พระ" เช่นกัน
การเตรียมการลากพระ
เมื่อเดือน 9 ผ่านไปแล้ว หลายวัดที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะร่วมประเพณีลากพระในเดือน 11 ก็จะเริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ "คุมโพน"
(ประโคมล่วงหน้า) และใช้ประโคมในวันพิธีรวมทั้งให้ชาวบ้านนำชัน (ประชัน) หรือแข่งขันกับของวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในการขุดและขึงหนังให้ตึงเต็มให้ใช้เaวลานานแรมเดือน บางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วย ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการนี้โดยตรง แต่ละวัดจะต้องมีโพน 2 ใบ ให้เสียงทุ้ม 1 ใบ เสียงแหม 1 ใบ วัดไหนโพนเสียงดีแข่งขันชนะ ชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่อชมยินดีกันไปนานเป็นแรมปี เมื่อใกล้วันลากพระประมาณ 7 หรือ 3 วัน ทุกวันที่ จะลากพระในปีนั้นก็จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม)
เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และอาจนำไปท้าทายแข่งขันกับวัดใกล้เคียง พร้อมกันนั้นทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสกที่มีฝีมือทางช่างก็จะช่วยกันจัดตกแต่งเรือพระและ "บุษบก" ซึ่งต้องทำกันอย่างสุดฝีมือ เพราะถ้าของวัดใดไม่สวยเท่าที่ควร บรรดาทายกทายิกา แม้ศิษย์วัดและพระภิกษุสามเณรก็จะรู้สึกน้อยหน้าวัดอื่นที่ตกแต่งดีกว่า ในส่วนของชาวบ้านก็จะเตรียมการตกแต่งเรือพายที่เรียกว่าเรือเพรียว เตรียมสรรหาฝีพาย ซ้อมพายเรือแข่งเตรียมเครื่องแต่ตัวตามทที่ได้กำหนด ตกลงกัน สิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องกระทำก็คือ การเตรียม "แทงต้ม" เตรียมหาใบกะพ้อ และ ข้าวสารข้าวเหนียว เพื่อนำไปทำขนมต้ม "แขวนเรือพระ"
วันลากพระ
เมื่อถึงเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบน บุษบกเหนือเรือพระ นิมนต์พระภิกษุในวันนั้นทั้งหมดขึ้นนั่งประจำเรือพระพร้อมทั้งอุบาสกและศิษย์วัดที่ติดตามและประจำเครื่องประโคม อันมีโพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ (พระภิกษุที่จะร่วมไปด้วยต้องรีบฉันภัตการเช้าให้เรียบร้อยเสียก่อน) ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำก็จะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการลากพระทางบกก็จะใช้คนเดินลากแล้วแต่กรณี
ขณะที่ลากพระไป ใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระหรือร่วมลากตอนใดก็ได้ โดยเฉพาะการลากพระน้ำ เมื่อจะมีการนำต้มไปแขวนบูชาพระ เรือพายหรือเรือแจวจะเข้าไปชิดเรือพระที่ลำใหญ่กว่าและกำลังถูกลากอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเข้าใกล้พอสมควรก็จะใช้วิธี "ซัดต้ม" ไปยังเรือพระให้คนคอยรับ อันนี้อาจเป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดกีฬาซัดต้มขึ้นมาก็ได้
เกือบทุกท้องถิ่นนิยมกำหนดให้มีจุดนัดหมายเพื่อให้บรรดาเรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียงกันไปชุมนุมในที่เดียวกันในเวลาก่อนพระฉันเพล ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาส "แขวนต้ม" และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรได้ทั่วทุกวัด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โอกาสนี้จึงก่อให้เกิดการประกวดประชันกันขึ้นโดยปริยาย เช่น การประกวดเรือพระการแข่งขันพายเรือ การเล่นเพลงเรือตอบโต้แก้ลำกัน การประกวดการประกวดเรือเพรียวประเภทต่าง ๆ เช่น มีฝีพายมากที่สุด แต่งตัวสวยงามมากที่สุด หรือตลกขบขันหรือมีความคิดริเริ่มดี มีการแข่งขันการตีโพนประเภทตีดัง ตีทน ตีท่าพลิกเพลง ลีลาการตีสวยงาม เหล่านี้เป็นต้นและบางทีก็คิดหากิจกรรมแปลก ๆ มาเสริม เช่น กีฬาซัดต้ม แข่งกีฬาทางน้ำ จัดหามหรสพมาแสดง ฯลฯ เมื่อเครื่องสนุกมีมาก การตระเตรียมก็เสียเวลาและใช้ทุนมาก การที่จะลากพระกันเพียงวันเดียวไม่จุใจ บางแห่งจึงขยายเป็น 2 วัน 3 วัน ก็มี การประกอบเรือพระแต่โบราณมักให้รางวัลเป็นของที่จำเป็นสำหรับวัด เช่นน้ำมันก๊าด ถ้วยชาม สบง จีวร เสนาสนะสงฆ์ เป็นต้น แต่ปัจจุบันบางท้องถิ่นให้ถ้วยรางวัลให้โล่เกียรติยศ และตั้งรางวัลเป็นเงินสดก็มี
ตามปกติหลังจากพระฉันเพลแล้ว ทายกทายิการ่วมสนุกสนานกันพอสมควร ตกเย็นก็จะลากเรือพระวัดของตนแยกย้ายกันกลับวัด ถ้าวัดใดเรือพระสวยงามเป็นที่ภูมิใจของชาวบ้านถิ่นนั้น ๆ เป็นพิเศษอาจจะแห่แหนไปอวดชาวถิ่นอื่นหรืออาจจะถูกชาวถิ่นอื่นแย่งไปต่อรองเรียกค่าไถ่ จนเป็นเหตุให้ต้องลากต่อวันรุ่งขึ้นก็มี การลากพระบก บางวัดใช้รถยนต์มาดัดแปลงตกแต่งเป็นเรือพระ ช่วงใดคนลากมีน้อย หรือต้องการประหยัดแรงหรือประหยัดเวลาก็จะใช้เครื่องยนต์แทนเรือพระแต่ละวัดจะได้ต้มกลับวัดเป็นจำนวนมากจนไม่อาจจะแจกจ่ายให้หมดสิ้นได้ จึงต้องปลูกร้านขนาดใหญ่ย่างต้มเหล่านั้นเพื่อไม่ให้บูดเสียเปล่า ทำให้ต้มมีรสอร่อยแปลกออกไปและเก็บไว้ได้นานกว่า อันนี้อาจเป็นต้นเหตุที่มาของต้มย่าง ประเพณีลากพระได้ปรับเปลี่ยนแตกเติมต่างออกไปจากเดิมหลายอย่าง มีการตั้งหีบรับเงินอนุโมทนา มีเครื่องขยายเสียงเชิญชวน บางท้องถิ่นจัดงานบันเทิงอื่น ๆ ประกอบมีการประกวดนางงาม งานลากพระก็มีประชาชนที่อยู่ใกล้ตลาดนิยมซื้อต้มจากตลาดแทนการทำเองก็มีมากขึ้น ปรากฏการณ์ทำนองนี้พบมากขึ้นในประเพณีพื้นเมืองทุกอย่างและทุกท้องถิ่น
ลากพระน้ำ
การลากพระทางน้ำ หรือ "ลากพระน้ำ" ออกจะสนุกกว่า "ลากพระบก" เพราะสภาพการเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมอื่น ๆ กว้างขวางกว่า เช่น สะดวกในการชักลาก ง่ายแก่การรวมกลุ่มกันจัดเรือพาย เพราะแต่ละกลุ่มมีลักษณะเป็นเอกเทศ ท้าทายต่อการแข่งขันประกวดประชันกันผนึกกำลังกันได้สะดวก มีกิจกรรมเชื่อมโยงอื่น ๆ ได้หลากหลายกว่า เช่น การแข่งพายเรือ การแย่งเรือพระ การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ |
ถ้าท้องถิ่นในสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ท้องถิ่นนั้นมักจะเลือก "ลากพระน้ำ" แหล่งลากพระน้ำที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง คือที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพินและอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมาอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง บ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอหลังสวนและที่บ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ จะมีการเล่นเพลงเรือที่ขึ้นชื่อกว่าแหล่งอื่น ๆ ส่วนที่อำเภอปากพนังมีการเล่น "ซัดหลุม" (ซัดโคลน) กันสนุกสนานเพราะที่ปากพนังมีโคลนตมมาก การลากพระทางน้ำของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แปลกกว่าที่อื่น ๆ คือ จะลากกัน 3 วัน ระหว่างแรม 8 ค่ำถึงแรม 10 ค่ำ เดือน 11 มีการปาสาหร่ายโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว มีการเล่นเพลงเรือ และที่แปลกพิเศษคือมีการทอดผ้าป่าสามัคคีในวันเริ่มงาน
ลากพระบก
โบราณนิยมใช้ล้อเลื่อน เรือพระจึงหนักต้องอาศัยคนลากเป็นจำนวนมากจึงต้องมีเชือกลากเป็น 2 สาย สายหนึ่งสำหรับผู้หญิงอีกสายหนึ่งสำหรับผู้ชาย แม้การลากพระทางน้ำ ก็มีเหตุให้วิวาทกันได้นานาประการ เช่น แย่งเรือพระกันแล้วพูดเยาะเย้ยถากถางกันแกล้งพายเรือเข้าเบียดให้เรือลำอื่นล่ม แกล้งพุ้ยน้ำใส่ผู้หญิงให้เสื้อผ้าเปียกปอน เป็นต้น การก่อเหตุวิวาทในวันลากพระที่แปลกและมีทั้งทางบกและทางน้ำก็คือ เตรียมการนัดแนะไว้ล่วงหน้าเพื่อยกพวกไปตีกันในวันลากพระ เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีเหตุการณ์วิวาทกันในวันลากพระ
เรือพระ
เรือพระ คือ เรือหรือรถ หรือล้อเลื่อนที่ประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบกซึ่งบุษบกนี้เรียกตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ว่า "นม" หรือ "นมพระ" ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐานแล้วชักลากในวันออกพรรษา ถ้าชักลากทางน้ำเรียกว่า "เรือพระน้ำ" ซึ่งจะใช้เรือจริง ๆ มาประดิษฐ์ตกแต่ง ถ้าใช้ชักลากทางบกเรียกว่า "เรือพระบก" จะใช้รถหรือล้อเลื่อนมารประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ
การทำเรือพระบก สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือให้คล้ายเรือจริงมากที่สุด และจะต้องพยายามให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด จึงมักใช้ไม้ไผ่สานหรือเสื่อกระจูดมาตกแต่งตรงส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา เฉพาะส่วนพื้นเพื่อนั่งและวางบุษบกกับส่วนที่จะผูกเชือกชักลากเท่านั้น แล้วใส่ล้อหรือเลื่อนที่ทำขึ้นจากไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อนรองรับข้างล่างเพื่อให้ชักลากเรือพระไปได้สะดวก ไม้สองท่อนนี้ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือแล้วตกแต่งเป็นรูปตัวพญานาค อาจทำเป็น 1 ตัว หรือมากกว่าก็ได้ ใช้กระดาษสีเงินสีทองหรือกระดาษสีสะท้อนแสงทำเป็นเกล็ดนาค ซึ่งจะทำให้สะท้อนแสงระยิบระยับไปทั้ง ลำเมื่อขณะชักลาก กลางลำตัวพญานาคทำเป็นร้านสูงราว 1.50 เมตร เรียกว่า "ร้านม้า" สำหรับวางส่วนสำคัญที่สุดของเรือพระ คือ บุษบก หรือ นมพระ ซึ่งนายช่างแต่ละท้องถิ่นจะมีเทคนิคในการออกแบบบุษบกเพื่อให้เหมาะสมทั้งลวดลาย และรูปร่าง มีการประดิษฐ์ประดอยอย่างสุดฝีมือหลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจัตุรมุข หรือทำเป็นจัตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูด งามสง่าสะดุดตา ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจังฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น
เพลงลากพระ
เพลงลากพระ (น้ำ)
พอเริ่มจบเชือก เรือเริ่มจะลากเรือพระออกจากท่าน้ำ ก็ร้องเพลงนี้
ถึงเดือนสิบเอ็ดเขาเสด็จลากพระ
ในวันสิบห้าเขาเย็บเสื้อแต่งพาย
ทำต้มคีบ (ตัด) ผมเข้าตัวน้องนุ่งห่มเฉิดฉาย
สารเหนียวหาไหม้ไปอีมเพื่อนกัน
ไหม้พร้าวไหม้สารถามว่าลานยังมั่ง
เขาหยิบให้ไม่นั่งลึงลัง (พะรุงพะรัง) ไปมา
เดินมาลกลก (รีบ) สารหาดังฉา
พ่อว่าอย่าไขว่ (ยุ่งเกี่ยว) ให้มันไปสักที
แม่ไม่ทุบตีได้ยินยอมพร้อมกัน
แม่ดับ (จัด) ให้หมดลูกคดข้าวใส่ขัน
ทุกสิ่งสารพันแม่ไม่หยัดจัดเจือ
แม่สั่งเหลยสั่งลูกอย่านั่งแคมเรือ
ผ้าไหมใส่เสื้อเขาจัดให้หลายอย่าง
สองคนน้องนางเมื่อระหว่างพ่อสั่ง
เพลงลากพระบก
(คนร้องนำ) อีสาระพา (ลูกคู่รับ) เฮโล เฮโล อีสาระพา (ลูกคู่รับ) เฮโล เฮโล
(คนร้องนำ) อะไรกลมกลม (ลูกคู่รับ) หัวนมสาวสาว สาวสาวไม่มา (ลูกคู่รับ) ลากพระไม่ไป
(คนร้องนำ) อะไรยาวยาว(ลูกคู่รับ) กล้วยไล (หัวโต)กล้วยไล สาวสาวพุงใหญ่ (ลูกคู่รับ) ช่วยกันผลัก
(คนร้องนำ) อีสาระพา (ลูกคู่รับ) เฮโล เฮโล อีสาระพา (ลูกคู่รับ) เฮโล เฮโล
(คนร้องนำ) อะไรกลมกลม (ลูกคู่รับ) หัวนมสาวสาว สาวสาวไม่มา (ลูกคู่รับ) ลากพระไม่ไป
(คนร้องนำ) อะไรยาวยาว(ลูกคู่รับ) กล้วยไล (หัวโต)กล้วยไล สาวสาวพุงใหญ่ (ลูกคู่รับ) ช่วยกันผลัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น